ทำไมการสวมหมวกกันน็อคขณะขับขี่จึงสำคัญ?

การสวมหมวกกันน็อคนั้นสำคัญกว่าที่หลายคนคิด ข้อมูลจากกรมควบคุมโรคในช่วงปี 2558‒2562 เผยค่าเฉลี่ยการบาดเจ็บจากการขับขี่รถจักรยานยนต์ไว้ว่า มีผู้เสียชีวิตจากการขับขี่รถจักรยานยนต์เฉลี่ย 9,120 คนต่อปี บาดเจ็บสาหัส 167,931 คนต่อปี และบาดเจ็บเล็กน้อยอีกกว่า 685,866 คนต่อปี

ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลกหรือ WHO เผยให้เห็นว่า การบาดเจ็บที่ศีรษะอย่างรุนแรงจากการขับขี่จักรยานยนต์เป็นสาเหตุหลักของการเสียชีวิตและพิการ โดยเฉพาะกลุ่มประเทศกำลังพัฒนาบางประเทศและประเทศไทยที่นิยมใช้จักรยานยนต์เป็นพาหนะ ซึ่งอาจมีอัตราการเสียชีวิตจากการบาดเจ็บที่ศีรษะจากอุบัติเหตุได้สูงถึง 88 เปอร์เซ็นต์ นอกจากการบาดเจ็บ พิการ และสูญเสียชีวิตแล้ว ค่ารักษาพยาบาลที่ใช้รักษาและดูแลผู้ป่วยที่กะโหลกศีรษะและสมองได้รับบาดเจ็บยังสูงมากอีกด้วย

ในกรณีที่ไม่เสียชีวิตหลังการบาดเจ็บที่ศีรษะอย่างรุนแรง ผู้ป่วยอาจต้องเผชิญกับภาวะพิการ อาการกล้ามเนื้ออ่อนแรง เคลื่อนไหวได้ไม่เหมือนเดิม สูญเสียการควบคุมร่างกาย และกลายเป็นคนทุพพลภาพ ซึ่งอาจทำให้เกิดปัญหาด้านจิตใจ ปัญหาการงาน ปัญหาครอบครัว และปัญหาอื่น ๆ ตามมา

โดย WHO ได้แนะว่าการสวมหมวกกันน็อคขณะขับขี่จักรยานยนต์สามารถลด ดูดซับ เป็นเกราะป้องกันแรงกระแทกจากอุบัติเหตุ และช่วยหยุดหรือชะลอการกระแทกกันของสมองและกะโหลกศีรษะ จึงอาจช่วยลดความรุนแรงของการบาดเจ็บบริเวณกะโหลกศีรษะและสมองที่เป็นอวัยวะสำคัญได้ ทำให้อาจช่วยลดการเสียชีวิตได้ราว 42 เปอร์เซ็นต์ และลดความเสี่ยงของการบาดเจ็บที่ศีรษะได้ถึง 69 เปอร์เซ็นต์

อย่างไรก็ตาม สถิติที่ได้พูดไปในข้างต้นไม่ได้เกิดเฉพาะในคนที่ไม่สวมหมวกกันน็อคเท่านั้น แต่รวมถึงการทำผิดกฏจราจร การตัดสินใจผิดพลาดในช่วงคับขัน สภาพท้องถนนที่ไม่พร้อม และอีกหลายปัจจัย ถึงอย่างนั้นก็ไม่ควรประมาทหรือคิดว่าอุบัติเหตุเหล่านั้นจะไม่เกิดขึ้นกับตนเอง เพราะอุบัติเหตุเป็นเหตุการณ์ที่คาดไม่ถึงและมักเกิดขึ้นโดยไม่ทันตั้งตัวเสมอ

เรื่องที่ควรตระหนักเกี่ยวกับการสวมหมวกกันน็อค

รถจักรยานยนต์เป็นพาหนะที่คนไทยคุ้นเคย ทั้งการใช้ขับขี่ส่วนตัวและจักรยานยนต์บริการ แต่ก็พบเห็นพฤติกรรมการขับขี่หรือโดยสารที่เสี่ยงต่ออุบัติเหตุได้ทั่วไป ดังนั้น เพื่อความปลอดภัยในชีวิต ควรตระหนักถึงเรื่องต่อไปนี้ให้มากขึ้น

1. สวมหมวกกันน็อค แม้จะนั่งซ้อนท้าย

ข้อมูลจากการสำรวจในปี 2561 ที่สังเกตพฤติกรรมการขับขี่ของผู้ใช้งานรถจักรยานยนต์กว่า 1,532,077 คนทั่วประเทศพบว่า การขับขี่ที่ทั้งคนขับและคนซ้อนสวมหมวกน็อคมีเพียง 45 เปอร์เซ็นต์ และสวมหมวกกันน็อคเฉพาะคนขับ 52 เปอร์เซ็นต์ ในความเป็นจริงแล้ว ทั้งคนขับหรือคนซ้อนก็ล้วนแต่เสี่ยงต่อการบาดเจ็บจากอุบัติเหตุได้เช่นกัน ด้วยเหตุนี้ การสวมหมวกกันน็อคจึงเป็นเรื่องสำคัญสำหรับคนที่ใช้จักรยานยนต์ทุกคน ทั้งผู้ให้บริการรถจักรยานยนต์และผู้ที่ใช้บริการรถจักรยานยนต์

2. สวมหมวกกันน็อคให้เด็กเสมอ

เนื่องจากประเทศไทยมีการจราจรที่คับคั่ง โดยเฉพาะช่วงเวลาเร่งด่วน ทั้งเช้าและเย็น รถจักรยานยนต์จึงเป็นตัวเลือกที่ผู้ปกครองเลือกใช้เพื่อส่งลูกหลานไปโรงเรียน แต่มีเด็กเพียง 8 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่สวมหมวกกันน็อค ปัญหานี้จึงน่าเป็นห่วงเพราะร่างกายของเด็กยังพัฒนาไม่เต็มที่และไม่แข็งแรงเท่ากับผู้ใหญ่ การได้รับบาดเจ็บจากอุบัติเหตุบนท้องถนนเล็กน้อยแม้จะดูเหมือนไม่รุนแรง โดยเฉพาะการบาดเจ็บที่ศีรษะ แต่บางครั้งอาจเป็นอันตรายและส่งผลกระทบได้มากกว่าที่คิด

3. อย่าประมาท

จากการสำรวจผู้ที่ไม่สวมหมวกกันน็อคขณะขับขี่พบว่า ผู้ขับขี่ให้เหตุผลที่หลากหลายกันไป โดย 4 ลำดับแรกของสาเหตุของการไม่สวมหมวกกันน็อค ได้แก่

  • จุดหมายอยู่ไม่ไกล เป็นการเดินทางระยะสั้น
  • ขับขี่ในถนนเส้นเล็ก ตามตรอกหรือซอย ไม่ได้ขับขี่บนถนนใหญ่
  • เร่งรีบเพื่อไปยังจุดหมาย
  • รู้สึกอึดอัดเมื่อต้องสวมหมวกกันน็อค

แม้ว่าแต่ละคนอาจมีเหตุผลต่างกัน แต่หากมาลองคิดดูดี ๆ แล้ว ไม่ว่าจะสาเหตุใดที่นำไปสู่การละเลยการสวมหมวกกันน็อคขณะขับขี่สามารถนำไปสู่อุบัติเหตุบนท้องถนนได้ทั้งนั้น

นอกจากการสวมหมวกกันน็อคที่ทุกคนควรตระหนักแล้ว การขับขี่บนท้องถนนยังจำเป็นต้องปฏิบัติตามกฎจราจร หัดขับขี่และสอบใบขับขี่อย่างถูกต้อง ตรวจสอบดูแลเครื่องยนต์ตามกำหนด ศึกษาวิธีตัดสินใจหรือวิธีรับมือเมื่อคาดว่าจะเกิดอุบัติเหตุ ไม่ขับขี่ขณะมึนเมา พร้อมปลูกฝังและสร้างความตระหนักรู้เรื่องการขับขี่อย่างปลอดภัยให้กับคนรอบข้าง

แม้บางครั้งอุบัติเหตุจากการขับขี่จะไม่ได้ทำให้รับบาดเจ็บรุนแรงหรือเป็นอันตราย แต่ก็อาจทำให้สูญเสียทรัพย์สิน เวลา และส่งผลกระทบต่อจิตใจได้ ดังนั้น การเลือกที่จะสวมหมวกกันน็อคทุกครั้งที่ขับขี่และซ้อนท้ายรถจักรยานยนต์ ร่วมกับการมีวินัยจราจรจึงเป็นทางเลือกที่ดีและปลอดภัย

อ้างอิง https://www.pobpad.com/หมวกกันน็อ